20 พ.ย., 2024
Breaking News

อีสุกอีใส (Chickenpox) สาเหตุที่เป็นอีสุกอีใส การรักษาอีสุกอีใส

1 min read

อีสุกอีใส หรือ ไข้อีสุกอีใส หรือที่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไข้สุกใส หรือ โรคสุกใส (Chickenpox, Varicella) เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ โดยทั่วไปจะพบอัตราการป่วยได้สูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี, 10-14 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนในคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปอาจพบได้บ้าง โรคนี้มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งมักจะเป็นคนที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน

สาเหตุที่เป็นอีสุกอีใส

อีสุกอีใสเกิดจากการติด “เชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด” ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า “ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์” (Varicella zoster virus – VZV) หรือ Human herpesvirus type 3 (HHV-3) โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสในผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นหรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อที่หลบซ่อนอยู่ก็จะเจริญเติบโตขึ้นใหม่ก่อให้เกิดโรคงูสวัด

การติดต่อของโรคอีสุกอีใส : เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอยู่ในตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด ในน้ำลายและเสมหะของผู้ที่เป็นอีสุกอีใส สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ที่นอน ผ้าห่ม เป็นต้น หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนไปด้วยเชื้อตุ่มน้ำ น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แล้วเชื้อก็ปนเปื้อนเข้าทางเดินหายใจแบบเดียวกับไข้หวัด หรืออีกทางหนึ่งโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะติดต่อโดยทางใดก็ตาม เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจแล้วเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย รวมทั้งที่ผิวหนัง (ส่วนการสัมผัสสะเก็ดแผลจะไม่ทำให้ติดโรค) ระยะฟักตัวของโรคอีสุกอีใส : ประมาณ 10-21 วัน แต่โดยเฉลี่ยคือประมาณ 14-17 วัน

การรักษา อีสุกอีใส

  1. การดูแลตนเองเมื่อเป็นอีสุกอีใส ในเบื้องต้นผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
  2. ผู้ป่วยควรแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากจนพ้นระยะติดต่อ รวมทั้งแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค (ระยะติดต่อคือตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น ไปจนถึงระยะที่ตุ่มทั้งหมดตกสะเก็ดแล้ว หรือประมาณ 6 วันหลังจากตุ่มน้ำ)
  3. พักผ่อนให้มาก ๆ
  4. อาบน้ำให้สะอาด อยู่ในที่ที่อากาศเย็นสบายและถ่ายเท
  5. ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดการดื่มน้ำ
  6. ควรรับประทานอาหารเหลวที่มีโปรตีนให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว อาหารหมักดอง และอาหารที่เคี้ยวยาก (โรคนี้ไม่มีของแสลง สามารถกินได้ตามปกติ ส่วนในมุมของทางการแพทย์แผนไทยถือว่าอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็นเป็นของแสลง ผู้ป่วยอีสุกอีใสควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะจะทำให้ผิดสำแดง)
  7. ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นแผลเป็นได้
  8. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง
  9. ถ้าตุ่มทำให้เกิดอาการคันให้ใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบ หรืออาบน้ำเย็นบ่อย ๆ (ถ้าไม่ทำให้หนาวสั่น)
  10. ถ้าเจ็บปากหรือปากเปื่อยลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือเย็น ๆ กลั้วปากและคอ
  11. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทั้งยากินและยาทา เช่น ยาชุด ยาหม้อ เพราะอาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่เกิดลุกลามได้ สำหรับยาเขียวที่ทำจากสมุนไพร (เช่น ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖) ไม่ถือเป็นข้อห้ามหรือทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยสามารถใช้ร่วมกับการรักษาปกติได้ แถมยาเขียวยังช่วยให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นอีกด้วย
  12. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค
  13. ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วันหลังกินยาลดไข้ มีตุ่มพองเป็นหนอง มีอาการไอมาก ไอมีเสมหะ (มักเป็นตัวบ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย) ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
  14. ถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น มีเลือดออก (เป็นอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ), เจ็บหน้าอกมาก หายใจติดขัด หายใจลำบาก หอบเหนื่อย (เป็นอาการของปอดอักเสบ), ปวดศีรษะ ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว อาจร่วมกับแขนขาอ่อนแรง หรือชัก (เป็นอาการของสมองอักเสบ) ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โรคนี้ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วอาการจะไม่รุนแรง และมักหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่อาจมีไข้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและหลุดไปภายใน 7-10 วัน ส่วนในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นนานและมีความรุนแรงมากกว่าเด็ก